สภาพทั่วไปองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเสี้ยว
1. ด้านกายภาพ
1.1 ที่ตั้งของหมู่บ้านหรือชุมชนหรือตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเสี้ยว ตั้งอยู่ ณ บ้านเลขที่ 135/4 หมู่ที่ 1 อยู่ห่างจากประมาณที่ว่าการอำเภอฟากท่า ประมาณ 14 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ ประมาณ 105 กิโลเมตร (ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 117 (เดิม 1047)) มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 106.48 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 66,550 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อและพิกัดที่ตั้ง
ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับบ้านงอมมด หมู่ที่ 1, บ้านงอมสัก หมู่ที่ 2 ตำบลท่าแฝก อำเภอน้ำปาด โดยมีแนวเขตเริ่มต้นจากสันเขาปันน้ำภูเข็ม บริเวณพิกัดที่ P.V.851892 ไปทางทิศเหนือตามแนวสันเขาภูเข็มถึงสันเขาปันน้ำภูเข็ม บริเวณพิกัดที่ P.V.851892,887922 ตามแนวสันเขาปันน้ำ สิ้นสุดที่สันเขาภูเข็ม บริเวณพิกัดที่ P.V.887922 ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร
ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านนาน้ำพาย หมู่ที่ 2 ตำบลเด่นเหล็ก อำเภอน้ำปาด โดยมีแนวเขตเริ่มต้นจากสันเขาปันน้ำภูเงินบริเวณพิกัดที่ Q.V.044828 ไปทางทิศใต้ตามสันเขาภูเงินถึงสันเขาภูเงิน บริเวณพิกัดที่ Q.V.993778 ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ตามสันเขาปันน้ำสิ้นสุดที่สันเขาภูเงิน บริเวณพิกัดที่ Q.V.993778 ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านใหม่จำปี หมู่ที่ 6 ตำบลสองคอน บริเวณพิกัดที่ P.V.887922 ไปทางทิศตะวันออกตามลำห้วยลึกตัด สันเขาภูดินแดนถึงลำน้ำปาด บริเวณพิกัดที่ Q.V.983842 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตัดสันเขาภูดินแดนตามลำห้วยปูนฝั่งขวาของลำห้วย สิ้นสุดทีจุดเชื่อมสันเขาภูเงิน บริเวณพิกัดที่ Q.V.044828 ระยะ ทางประมาณ 19 กิโลเมตร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านเดิ่น หมู่ที่ 2, บ้านนาไร่เดียว หมู่ที่ 5 ตำบลสองห้อง โดยมีแนวเขตเริ่มต้นจากสันเขาภูเงินบริเวณพิกัดที่ Q.V.993778 ไปทางทิศเหนือตัดสันเขาภูดินแดน, ลำน้ำปาด ถึงลำห้วยกลางผ่านบริเวณพิกัดที่ Q.V.938972,Q.V.921837 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตามแนวเชิงเขาภูเข็มสิ้นสุดที่สันเขาภูเขา บริเวณพิกัดที่ Q.V.851892 ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร
แผนที่แสดงที่ตั้งของอำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์

1.2 ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลบ้านเสี้ยวมีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำพื้นที่ราบระหว่างหุบเขา และบริเวณลูกคลื่นลอนลาดเขตภูเขา และพื้นที่สูงมีภูเขาล้อมรอบ โดยมีความสูงของพื้นที่ระหว่าง 400 –1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์พืช และป่าไม้เบญจพรรณมีแม่น้ำลำห้วยและมีแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่ง เช่น ห้วยเสี้ยวห้วยปูน แม่น้ำปาด ฯลฯ ลักษณะการตั้งบ้านเรือนเป็นหมู่บ้านไป ตามแนวแม่น้ำปาดซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักสำคัญที่ไหลผ่านในแนวทิศเหนือ – ทิศใต้ มีถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 117 ตัดผ่านพื้นที่หมู่บ้าน/ตำบล โดยขนานไปในแนวเดียวกันกับแม่น้ำปาด ลักษณะทั่วไปของพื้นที่ แบ่งออกได้ 2 ลักษณะคือ ที่ราบลุ่มบริเวณน้ำปาดซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของตำบล และทุกหมู่บ้านมีอาณาเขตติดต่อกับลำน้ำปาด (หมู่ที่ 1, 2, 3, 4 และ 5 (ยกเว้น หมู่ที่ 6)) ประชาชนตั้งบ้านเรือนอยู่ตามริมลำแม่น้ำปาดและตามถนนโดยอาศัยน้ำจากแม่น้ำปาด,ลำห้วย กลาง, และห้วยเลิศเพื่อใช้ในการเกษตร เกษตรกรจะใช้พื้นที่นี้ทำนา ปลูกข้าวโพดในที่ดอนและจะใช้ปลูกพืชฤดูแล้ง เช่น หอม,กระเทียม,ถั่วเหลืองซึ่งจะมีประมาณ 30% ของพื้นที่ที่ใช้ในการเกษตร ที่ราบเชิงเขาซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของตำบล เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกพืชไร่ และไม้ผลบริเวณที่อยู่ใกล้ลำห้วยจะใช้พื้นที่ในการทำนา ซึ่งจะมีปัญหาในช่วงฝนแล้งไม่สามารถหาน้ำมาใช้ในการปลูกพืชได้ มีพื้นที่ประมาณ 70 % ของพื้นที่ที่ใช้ในการเกษตร และโดยสภาพทางภูมิศาสตร์และลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขา และที่ราบอยู่ในพื้นที่สูงในเขตพื้นที่ตำบลจึงหาแหล่งน้ำใต้ดินเพื่อพัฒนานำมาใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรได้ยากหรือมีแต่อยู่ในระดับที่ลึกมาก
1.3 ลักษณะภูมิอากาศ
ตำบลบ้านเสี้ยว อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้มีความชื้น และความร้อนสูงโดยระยะช่วงฤดูฝนกับระยะช่วงฤดูร้อนจะมีสภาพอากาศที่แตกต่างกันมาก และเนื่องจากสภาพพื้นที่และภูมิประเทศอยู่บนพื้นที่ราบเชิงเขาแลที่ราบสูงจึงทำให้อากาศร้อนจัดในฤดูร้อนและหนาวถึงหนาวจัดในฤดูหนาว ฤดูร้อนจะเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิประมาณ 35 – 41 องศาเซลเซียสและฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนมีนาคม อุณหภูมิระหว่าง 14 – 18 องศาเซลเซียส
1.4 ลักษณะของดิน
ตามลักษณะภูมิประเทศของตำบลบ้านเสี้ยว ส่วนมากจะเป็นภูเขาและป่าไม้ ไม่เหมาะในการทำการเกษตรเสียส่วนใหญ่มีพื้นที่ส่วนน้อยที่ใช้ประโยชน์ได้ซึ่งเมื่อแบ่งตามสภาพของดินแล้วสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มดินนา เป็นดินนาดี (นด) ซึ่งอยู่บริเวณตอนกลางของพื้นที่ตำบลบ้านเสี้ยว
2. กลุ่มดินไร่ เป็นดินไร่ทั่วไป (รท) อยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกของตำบลบ้านเสี้ยว
3. กลุ่มดินภูเขาอยู่บริเวณตอนกลางของตำบลบ้านเสี้ยว
4. กลุ่มดินพื้นที่ภูเขาและป่าไม้อยู่บริเวณโดยรอบ ๆ ของพื้นที่ตำบลบ้านเสี้ยว ลักษณะของดินโดยทั่วไป อาจแบ่งได้ดังนี้
1. ดินมีความอุดมสมบรูณ์ค่อนข้างต่ำและเสื่อมโทรมเนื่องจากมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเป็นระยะเวลายาวนานโดยขาดการปรับปรุงดิน ประกอบกับพื้นที่ส่วนใหญ่มีความลาดชันสูงทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของดินอย่างกว้างขวาง ความอุดมสมบรูณ์และดินจึงเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ
2. ดินตื้น และลูกรังปะปนในเนื้อดิน
3. ดินมีเนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย ซึ่งดินที่มีเนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย นอกจากความอุดมสมบูรณ์ต่ำแล้วความสามารถในการอุ้มน้ำก็ต่ำด้วยจึงดูดซับน้ำได้น้อยทำให้พืชที่ปลูกมักขาดน้ำได้ง่าย โดยเฉพาะในระยะที่ฝนทิ้งช่วง
1.5 ลักษณะของแหล่งน้ำ
1. แหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่
1.1 แม่น้ำปาดเป็นแม่น้ำสายหลักสำคัญที่ไหลผ่านในแนวทิศ เหนือ – ทิศใต้ มีความยาว 80 กิโลเมตร ไหลผ่านพื้นที่ตำบล ผ่านหมู่ที่ 5 บ้านห้วยลึก, หมู่ที่ 4 บ้านวังอ้อ, หมู่ที่ 3 บ้านหัวทุ่ง, หมู่ที่ 2 บ้านลุ่ม และหมู่ที่ 1 บ้านเสี้ยวยกเว้นหมู่ที่ 6บ้านใหม่พัฒนาไปบรรจบลำน้ำน่านที่บริเวณรอยต่อระหว่างอำเภอน้ำปาดและอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดเป็นแหล่งน้ำผิวดินที่สำคัญที่สุดต่อการเกษตร และการอุปโภคบริโภค แต่ในช่วงฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำปาดจะมีปริมาณน้ำน้อยซึ่งในบางปีที่มีสภาพแล้งมากๆ จะเหือดแห้ง โดยเกษตรกรใช้น้ำในการทำนาและปลูกพืชฤดูแล้ง ในกรณีที่ปลูกพืชฤดูแล้งกันมากๆ จะทำให้น้ำไม่เพียงพอ
1.2 ลำห้วยลึก หมู่ที่ 5 บ้านห้วยลึก ใช้ประโยชน์ได้ในช่วงฤดูฝน
1.3 ลำห้วยตาด หมู่ที่ 3 บ้านหัวทุ่ง ใช้ประโยชน์ได้ในช่วงฤดูฝน
1.4 ลำห้วยโปร่ง หมู่ที่ 1 บ้านเสี้ยว ใช้ประโยชน์ได้ในช่วงฤดูฝน
1.5 ลำห้วยขอนแก่น หมู่ที่ 1 บ้านเสี้ยว ใช้ประโยชน์ได้ในช่วงฤดูฝน
1.6 ลำห้วยร้องนา หมู่ที่ ๖ บ้านใหม่พัฒนา ใช้ประโยชน์ได้ในช่วงฤดูฝน ปัจจุบันมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยร้องนาเพื่อชะลอและกักเก็บน้ำ
1.7 ลำห้วยกลาง หมู่ที่ 1 บ้านเสี้ยว ใช้ประโยชน์ได้ในช่วงฤดูฝน ปัจจุบันมีการขุดสระแก้มลิงเพื่อชะลอและกักเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำมากในช่วงฤดูฝนและเหลือน้อยในช่วงฤดูแล้ง
1.8 ลำห้วยเสี้ยว หมู่ที่ 1 บ้านเสี้ยว ใช้ประโยชน์ได้ในช่วงฤดูฝน
1.9 ลำห้วยหลุ หมู่ที่ 5 บ้านห้วยลึก ใช้ประโยชน์ได้ในช่วงฤดูฝน
2. แหล่งน้ำที่จัดสร้างขึ้น ได้แก่
2.1 สระน้ำ (แก้มลิง) หลังศาลปู่ตาพ่อขุนบุญโฮม หมู่ที่ 1 บ้านเสี้ยว
2.2 อ่างเก็บน้ำห้วยร้องนา หมู่ที่ 6 บ้านใหม่พัฒนา มีปริมาณน้ำมากในช่วงฤดูฝน และเหลือน้อยในช่วงฤดูแล้ง
2.3 อ่างเก็บน้ำห้วยเปย หมู่ที่ 4 บ้านวังอ้อ มีปริมาณน้ำมากในช่วงฤดูฝน และเหลือน้อยในช่วงฤดูแล้งปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน
2.4 อ่างเก็บน้ำห้วยงูเหลือ หมู่ที่ 4 บ้านวังอ้อ มีปริมาณน้ำมากในช่วงฤดูฝน และเหลือน้อยในช่วงฤดูแล้งปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน
2.5 อ่างเก็บน้ำห้วยลึก หมู่ที่ 5 บ้านห้วยลึก มีปริมาณน้ำมากในช่วงฤดูฝน และเหลือน้อยในช่วงฤดูแล้ง
2.6 อ่างเก็บน้ำผาโปด หมู่ที่ 5 บ้านห้วยลึก มีปริมาณน้ำมากในช่วงฤดูฝน และเหลือน้อยในช่วงฤดูแล้ง
2.7 ฝายกั้นน้ำวังหิน (แม่น้ำปาด) หมู่ที่ 5 บ้านห้วยลึก มีปริมาณน้ำมากในช่วงฤดูฝน และเหลือน้อยในช่วงฤดูแล้ง
2.8 ฝายนาค่าชิ้น หมู่ที่ 1 บ้านเสี้ยว ใช้ผันน้ำจากลำห้วยกลางเข้านาข้าวในช่วงฤดูฝน ปัจจุบันมีสภาพเสื่อมโทรมชำรุดเสียหาย
2.9 ฝายนาถ้ำ หมู่ที่ 1 บ้านเสี้ยว ใช้ผันน้ำจากลำห้วยกลางเข้านาข้าวในช่วงฤดูฝน
2.10 ฝายน้ำล้นห้วยร้องนา หมู่ที่ 1 บ้านเสี้ยว ใช้ผันน้ำเข้านาข้าวในช่วงฤดูฝน
2.11 ฝายห้วยเปยใต้ หมู่ที่ 4 บ้านวังอ้อ ใช้ผันน้ำจากห้วยเปยใหญ่เข้านาข้าวในช่วงฤดูฝน
2.12 ฝายนาโพธิ์ หมู่ที่ 4 บ้านวังอ้อ ใช้ผันน้ำจากห้วยเปยเข้านาข้าวในช่วงฤดูฝน
2.13 ฝายห้วยไฮ หมู่ที่ 1 ต.สองคอน แต่หมู่ที่ 5 บ้านห้วยลึก ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
2.14 ฝายนาหนองกกแดง หมู่ที่ 5 บ้านห้วยลึก ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูฝน
2.15 ฝายห้วยลึกใต้ หมู่ที่ 5 บ้านห้วยงึก ใช้ผันน้ำจากห้วยลึกเข้านาข้าวในช่วงฤดูฝน
2.16 ฝายนาปูน หมู่ที่ 5 บ้านห้วยลึก ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูฝน
2.17 สถานีสูบน้ำพลังไฟฟ้า จำนวน 4 สถานี ได้แก่
1. สถานีสูบน้ำพลังไฟฟ้า หมู่ที่ 3 บ้านหัวทุ่ง
2. สถานีสูบน้ำพลังไฟฟ้า หมู่ที่ 4 บ้านวังอ้อ
3. สถานีสูบน้ำพลังไฟฟ้า หมู่ที่ 5 บ้านห้วยลึก (แห่งที่ 1 (นาดง))
4. สถานีสูบน้ำพลังไฟฟ้า หมู่ที่ 5 บ้านห้วยลึก (แห่งที่ 2 (วังหิน))
5. บ่อน้ำตื้น (แบบขุด) จำนวน 20 บ่อ
6. บ่อน้ำตื้น (แบบเจาะ) จำนวน 6 แห่ง
2.18 ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กแบบน้ำล้นผ่าน (ใช้ในการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและใช้ในการคมนาคมในช่วงฤดูแล้ง) จำนวน 5 แห่ง ได้แก่
1. ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กแบบน้ำล้นผ่าน หมู่ที่ 1 บ้านเสี้ยว
2. ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กแบบน้ำล้นผ่าน หมู่ที่ 2 บ้านลุ่ม
3. ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กแบบน้ำล้นผ่าน หมู่ที่ 3 บ้านหัวทุ่ง
4. ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กแบบน้ำล้นผ่าน หมู่ที่ 4 บ้านวังอ้อ
5. ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กแบบน้ำล้นผ่าน หมู่ที่ 5 บ้านห้วยลึก
2.19 ระบบประปาหมู่บ้าน จำนวน 11 แห่ง ได้แก่
1. ระบบประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 บ้านเสี้ยว (อยู่ในความรับผิดชอบของหมู่บ้าน)
2. ระบบประปาขนาดย่อมห้วยกลาง หมู่ที่ 1 บ้านเสี้ยว
3. ระบบประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 2 บ้านลุ่ม (อยู่ในความรับผิดชอบของหมู่บ้าน)
4. ระบบประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 3 บ้านหัวทุ่ง (อยู่ในความรับผิดชอบของหมู่บ้าน)
5. ระบบประปาผิวดิน หมู่ที่ 4 บ้านวังอ้อ
6. ระบบประปาขนาดย่อมแบบหอถัง หมู่ที่ 5 บ้านห้วยลึก (สายเหนือ)
7. ระบบประปาขนาดย่อม หมู่ที่ 5 บ้านห้วยลึก (สายใต้)
8. ระบบประปาขนาดย่อมแบบหอถังสูง หมู่ที่ 6 บ้านใหม่พัฒนา (ลุงเชียงอิ๊ด)
9. ระบบประปาขนาดใหญ่หอถังสูง หมู่ที่ 6 บ้านใหม่พัฒนา (วัดมหาธาตุ)
10. ระบบประปาขนาดย่อม หมู่ที่ 6 บ้านใหม่พัฒนา (วัดมหาธาตุ (ตัวเดิม))
11. ระบบประปาห้วยกลาง แห่งที่ 2 หมู่ที่ 1 บ้านเสี้ยว
ลักษณะและสภาพแหล่งน้ำของตำบลบ้านเสี้ยว โดยเฉพาะแหล่งน้ำตามธรรมชาติในช่วงฤดูฝนน้ำใน ลำห้วยต่าง ๆ จะมีมาก ส่วนฤดูแล้งมักขาดแคลนน้ำถ้ามีการพัฒนาที่เหมาะสมจะทำให้มีน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้งได้
1.6 ลักษณะของไม้และป่าไม้
ตำบลบ้านเสี้ยวมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 85,183.81 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้ จำนวน 82,028.44 ไร่ พื้นที่สวนป่า จำนวน 281.87 ไร่และพื้นที่ป่าไม้เสื่อมโทรม จำนวน 2,873.50 ไร่ ทรัพยากรป่าไม้ประกอบด้วยป่าไม้หลายชนิด ได้แก่ ป่าเบญจพรรณ ซึ่งเป็นป่าผลัดใบพบที่ระดับความสูง 500 – 600 เมตร จากระดับน้ำทะเลและป่าเต็งรังซึ่งเป็นป่าโปร่ง ป่าดงดิบแล้งซึ่งมีไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่พบมาก คือไม้สักพื้นที่ป่าส่วนมากจะอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่จริม และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าน้ำปาด ซึ่งมีพื้นที่ล้อมรอบพื้นที่ตำบล
2. ด้านการเมือง/การปกครอง
2.1 เขตการปกครอง
ตำบลบ้านเสี้ยวมีการแบ่งเขตการปกครองตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ออกเป็น 6 หมู่บ้าน ได้แก่
1. บ้านเสี้ยว หมู่ที่ 1 โดยมี นายชัยภัทร เมืองศรีสุข เป็นผู้ใหญ่บ้าน
2. บ้านลุ่ม หมู่ที่ 2 โดยมี นายณัฐพล ทาพา เป็นผู้ใหญ่บ้าน
3. บ้านหัวทุ่ง หมู่ที่ 3 โดยมี นายธเนศ ทองประเสริฐ เป็นผู้ใหญ่บ้าน
4. บ้านวังอ้อ หมู่ที่ 4 โดยมี นายเปรียบ จันทร์มา เป็นผู้ใหญ่บ้าน
5. บ้านห้วยลึก หมู่ที่ 5 โดยมี นายสาทิต บุญสีไทย เป็นผู้ใหญ่บ้าน
6. บ้านใหม่พัฒนา หมู่ที่ 6 โดยมี นายภัทรพงศ์ ปัญญาสงค์ เป็นกำนันตำบลบ้านเสี้ยว
2.2 การเลือกตั้ง
บ้านเสี้ยวได้รับการยกฐานะเป็นตำบลตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะการปกครองท้องที่และมีสภาตำบลบ้านเสี้ยวต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเสี้ยว ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 113 ตอนที่ พิเศษ 62 ง วันที่ 25 ธันวาคม 2539 โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไป นับตั้งแต่จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเสี้ยวมาจนถึงปัจจุบันมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นจำนวน 7 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 การเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. และนายก อบต. (กรณีครบวาระ) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2540
ครั้งที่ 2 การเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. และนายก อบต. (กรณีครบวาระพร้อมกับการจัดตั้งหมู่บ้านใหม่)เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2544
ครั้งที่ 3 การเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. และนายก อบต. (กรณีครบวาระ) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2548
ครั้งที่ 4 การเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. และนายก อบต. (กรณีครบวาระ) เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2552
ครั้งที่ 5 การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (กรณีแทนตำแหน่งว่าง) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2555
ครั้งที่ 6 การเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. และนายก อบต. (กรณีครบวาระ) เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2556
ครั้งที่ 7 การเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. และนายก อบต. (กรณีอื่นนอกจากครบวาระ) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564
3. ประชากร
3.1 ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนประชากร
ตำบลบ้านเสี้ยว มีจำนวนประชากรทั้งหมด 3,156 คน แยกเป็น เพศชาย 1,502 คน เพศหญิง 1,654 คน มีรายละเอียดแยกเป็นรายหมู่บ้าน ดังนี้
ชื่อหมู่บ้าน |
จำนวนประชากร (คน) |
ชาย |
หญิง |
รวมทั้งสิ้น |
บ้านเสี้ยว หมู่ที่ 1 |
229 |
312 |
541 |
บ้านลุ่ม หมู่ที่ 2 |
64 |
67 |
131 |
บ้านหัวทุ่ง หมู่ที่ 3 |
144 |
160 |
304 |
บ้านวังอ้อ หมู่ที่ 4 |
246 |
549 |
495 |
บ้านห้วยลึก หมู่ที่ 5 |
510 |
525 |
1,035 |
บ้านใหม่พัฒนา หมู่ที่ 6 |
309 |
341 |
650 |
รวมทั้งสิ้น |
1,502 |
1,654 |
3,156 |
(ที่มา : สถิติประชากรจากทะเบียนบ้าน ที่ทำการปกครองอำเภอฟากท่า ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2565)
|
|